ความลับอันน่ามหัศจรรย์ของช้าง

สมชาติ ช่างการและโขลงช้างที่เขาดูแลสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องเอ่ยปาก ควาญช้างผู้นี้เข้าใจความรู้สึกของช้างจากท่าทางของพวกมัน เขาใช้เวลาอยู่กับช้างบางทีมากถึง 12 ชั่วโมงต่อวันในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ความลับอันน่ามหัศจรรย์ของช้าง
Mahout Somchat Changkarn takes care of a female elephant who is a patient in the elephant hospital

ชีวิตของยักษ์ใหญ่ใจดีของไทย

ช้างไม่เคยรอช้าเวลาเจอแหล่งน้ำ แรกทีเดียวโขลงช้างค่อย ๆ เหยาะย่างอย่างไม่รีบร้อนไปทางหนองน้ำโดยเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ แต่จู่ ๆ ก็แทบจะทำตลิ่งพังก่อนกระโจนลงน้ำเย็น "เวลาอาบน้ำเป็นเวลาที่ช้างชอบมากที่สุดในแต่ละวัน" สมชาติ ช่างการอธิบาย ควาญช้างผู้นี้ทำหน้าที่ในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ลำปางมา 17 ปีแล้ว ปกติแล้วควาญช้างวัย 40 ปีผู้นี้จะแนะนำตัวว่าแดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวจำง่าย คุณพ่อลูกสองท่านนี้เป็นหัวหน้าควาญช้าง ซึ่งทีมของเขาดูแลช้างจำนวน 111 เชือก ศูนย์นี้ตั้งอยู่ห่างจากเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร บริเวณศูนย์มีสภาพเป็นป่าขนาดใหญ่ อุดมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม มีเนินเขา โรงพยาบาลช้าง ศูนย์ดูแลนักท่องเที่ยว และโรงเรียนควาญช้าง ควาญช้างคือผู้ที่ผ่านการฝึกฝนควบคุมช้าง ซึ่งสามารถสั่งยักษ์ใหญ่สีเทาให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำสั่งง่าย ๆ ท่าทางหรือการสัมผัส "ไม่มีใครเข้าใจช้างเท่าควาญที่มากประสบการณ์หรอก" แดงกล่าว "เราเข้าใจภาษากายพวกมันซึ่งสื่อออกมาว่ารู้สึกยังไงหรือต้องการอะไร อย่างเวลาอยากไปแช่น้ำในหนองมันก็บอกนะ มันจะออกอาการกระสับกระส่ายที่ทำให้เรารู้ว่ามันอยากลงน้ำ"

Mahout Somchat Changkarn takes care of a female elephant who is a patient in the elephant hospital

การเล่นน้ำคือการดูแลผิวพรรณ

การแช่น้ำไม่ได้ช่วยคลายร้อนให้ช้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อันที่จริงแล้วการแช่น้ำเป็นประโยชน์ต่อผิวหนังของพวกมัน ซึ่งสำคัญกว่าการคลายร้อนมาก "นี่คือเหตุที่การแช่น้ำเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของช้าง" แดงอธิบาย ช้างจะมีโอกาสได้ขจัดฝุ่นโคลนทั้งหลายที่สะสมมาจาก "การแช่ทราย" ช้างใช้ทรายเพื่อกำบังผิวหนังจากแสงแดด อากาศที่ร้อนเกินไปและแมลงที่น่ารำคาญทั้งหลาย

ประเทศไทย บ้านของช้าง

วิถีชีวิตของคนและช้างในแผ่นดินไทยมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นกว่าที่ใดในโลก ธงชาติซึ่งใช้จนถึงปีพ.ศ. 2460 มีช้างเผือกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสมบูรณ์ของกษัตริย์อยู่ตรงกลาง ช้างเผือก (ซึ่งมักเป็นช้างที่มีผิวเผือก หรือช้าง "ปกติ" ที่มีจุดที่มีสีซีดกว่าปกติบริเวณหูหรือหน้าผาก) ที่กำเนิดขึ้นถือเป็นสิริมงคลแก่พระเจ้าอยู่หัวผู้ครองราชย์อยู่ ณ ขณะนั้น กระทั่งในปัจจุบันลูกช้างเผือกที่เกิดมาจะถูกนำน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ตามตำนานยังว่ากันว่าพระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นช้างเผือกในชาติหนึ่งด้วย คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าพรมแดนของประเทศไทยมีลักษณะเป็นหัวช้าง ส่วน "หน้าผาก" เป็นส่วนที่ติดกับพม่าทางทิศเหนือ ในขณะที่ "งวง" ยื่นออกไปในทะเลอันดามันทางทิศตะวันตกและลาดไปทางอ่าวไทยทางทิศตะวันออก

เมื่อสัตว์ทำงานไม่มีงานทำ

โชคไม่ดีนักที่ในสมัยโบราณมีการใช้ยักษ์ใหญ่ใจดีเหล่านี้ในการสงคราม ทั้งยังมีการใช้ช้างลากไม้หนักหลายตันในป่าทึบ ในปี พ.ศ. 2532 การตัดไม้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ทำให้ช้างจำนวนมากกลายเป็นสิ่งเกินความจำเป็น นับแต่นั้นมาช้างถูกใช้งานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนำนักท่องเที่ยวเดินป่า ซึ่งช้างเหล่านี้มักจะมีความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ แต่ก็โชคดีที่มุมมองในเรื่องนี้เปลี่ยนมานานแล้ว และรัฐบาลไทยประกาศให้พื้นที่จำนวนมากเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวและดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ทำให้ความรู้ความเชี่ยวชาญของควาญที่สั่งสมมานานเกิดประโยชน์ ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ลำปาง เหล่าควาญ และน.สพ.ทวีโภค อังควานิช

หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง คอยดูแลช้างที่ป่วยหรือกำพร้า รวมไปถึงช้างที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง โรงพยาบาลภายในศูนย์ฯ รักษาช้างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายในบริเวณศูนย์ฯ ช้างแต่ละเชือกได้รับการดูแลจากควาญที่ได้รับมอบหมายตลอดการรักษา "กระบวนการฟื้นฟูส่วนใหญ่ใช้เวลาสองสามเดือน ระหว่างนั้นเราจะพยายามให้ความรู้กับควาญให้มากที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่วยอีกในอนาคต" ทวีโภค อังควานิชอธิบาย "เราสอนควาญให้รู้วิธีการดูแลช้างที่ถูกต้อง"

Thai mahouts accompany their elephants back to the pasture after a swim in the lake
Mahout Somchat Changkarn cleaning stables

 

สุขอนามัยเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลช้างบ้าน

"ช้างมักป่วยเพราะคอกสกปรก" แดงอธิบาย "พวกมันกินอาหารจากพื้นสกปรกก็เลยป่วย ช้างจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ" การดูแลความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สัตว์เหล่านี้มีชีวิตรอด ผู้ดูแลที่ศูนย์ฯ ใช้เครื่องทำความสะอาดแรงดันสูงแบบน้ำร้อนในการทำความสะอาดคอกและขจัดสิ่งสกปรกที่ฝังแน่น และยังใช้สายยางฉีดพ่นน้ำอ่อน ๆ เพื่ออาบน้ำให้ช้างเชือกเล็ก ๆ อีกด้วย "เจ้าของช้างหลายคนไม่ได้ตระหนักว่าการทำสะอาดที่อยู่ของสัตว์ทุกวันเป็นเรื่องสำคัญขนาดไหน" แดงกล่าว

การปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัดสร้างประโยชน์ให้แก่ศูนย์ฯ ไม่น้อย ในแต่ละปีจะมีช้างเกิดใหม่ที่นี่มากถึงสองตัว ซึ่งทำให้ศูนย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ช้าง "ประเทศไทยที่ไม่มีช้างน่ะหรือ ผมนึกภาพไม่ออกจริง ๆ" แดงกล่าวหลังครุ่นคิดอยู่สักพัก "สำหรับผมนะ ไม่มีสัตว์อะไรสวยงามกว่าช้างแล้ว พวกมันทั้งฉลาดเป็นกรดและชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม พวกมันดูแลกันเองและแต่ละเชือกก็นิสัยไม่เหมือนกัน จริง ๆ แล้วพวกมันคล้ายกับพวกเรามากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด"